ก่อนเส้นสายลายจาง
เรื่อง ศรีสิทธิ์ วงศ์วรจรรย์ 13570580
งานศิลปะในจังหวัดเพชรบุรี
เป็นงานที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวข้องกับวัด พระภิกษุผู้มีความรู้ในงานช่าง รังสรรค์ผลงานศิลปะและสั่งสมศิลปกรรมในยุคสมัยของตน ทำให้วัดกลายเป็นแหล่งศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงและเป็นจุดกำเนิดของงานศิลปกรรมจำนวนมาก
วัดจึงถือเป็นสำนักช่าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงศิลปกรรมอันเลื่องชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดเพชรบุรี
นั่นคืองานฝังลายไม้มูก หนึ่งในงานช่างสกุลเมืองเพชร
เครื่องเรือนไม้ทำยาก
สวยงาม ราคาแพง แต่ยังคงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบของเก่า
งานแกะสลักไม้โบราณที่กำลังจะสูญหาย นั่นคือ “เครื่องเรือนฝังลายไม้มูก” ซึ่งต้องอาศัยความถนัดทางเชิงช่างเป็นอันมาก
เพราะมีวิธีการทำที่ซับซ้อน โดยต้องใช้ไม้สักทำเป็นโครงเครื่องเรือน
แล้วฝังไม้มูกลงไปตามจุดต่างๆ เช่น ลิ้นชัก หน้าบานตู้
จากนั้นจึงเขียนลายหรือแบบที่สวยงามเหมาะสมกับพื้นที่ที่ต้องการฝัง
งานเครื่องเรือนฝังลายไม้มูกที่ออกมาจึงดูประณีตบรรจงเป็นอันมาก
ช่างสกุลเมืองเพชรนิยมฝังลายไม้มูกลงในตู้ไม้สัก เนื่องจากสีสันเนื้อที่ต่างกัน
ทำให้เกิดความโดดเด่นของลวดลาย อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตู้ไม้จังหวัดเพชรบุรี
ไม้มูกหรือไม้โมก
ไม้พื้นถิ่นที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งในเขตป่าเขาและที่นา
ไม้มูกหรือไม้โมกนั้นยังมีความคลุมเครือว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกันหรือคนละชนิด
จากคำบอกเล่าของช่างรุ่งฟ้า ตาละลักษณ์ ช่างฝังลายไม้มูก วัย 61 ปี เล่าให้ฟังว่า
ไม้มูกเป็นไม้ที่พบในเมืองไทย ถ้าขึ้นตามคันนาชาวบ้านเรียกกันว่า ไม้โมก หากขึ้นตามหินตามภูเขาจะเรียกว่า ไม้มูก
เขาเรียกกันสองอย่าง ไม้เดียวกันนั่นแหละ แต่ว่าความละเอียดมันต่าง
ไม้มูกสีจะนวลกว่า คล้ายงาช้าง เนื้อละเอียด ส่วนไม้โมกลักษณะไม้หยาบ ไม้หนา
ในประเด็นเดียวกันนี้ ช่างไลท์ นายนิยม ราชเจริญ ให้ความเห็นไว้ว่า
มันคืออันเดียวกัน ไม้มูกคนพื้นถิ่นเพชรบุรีเรียกต้นมูก แต่คนต่างจังหวัด กรุงเทพฯ
อยุธยา เรียกโมกมัน ผมว่ามันคือต้นเดียวกัน ผมเรียกต้นมูก ใต้ใบมีขนนุ่มๆ บางๆ
เหมือนกำมะหยี่
ความจริงอยู่ที่ภาษาถิ่นของคนเรียก ในเพชรบุรีคนรุ่นเก่าๆ เรียกไม้มูก
เท่าที่ผมรู้มันคือไม้เดียวกัน
ประวัติความเป็นมาของงานช่างฝังลายไม้มูกปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าของช่างไม้จังหวัดเพชรบุรีจากรุ่นสู่รุ่น
“สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป
เจอลายเปียโน ลายเถา โดยเฉพาะลายใบตำลึง ลักษณะหนวดเส้นเล็กๆ ฝรั่งเรียกว่าใบองุ่น
เห็นภาพลายพวกนี้สวย พอเสด็จกลับมาเมืองไทย ตรัสถามช่างไทยว่าพอทำได้หรือไม่
ช่างไทยถนัดฝังมุก ทำคล้ายๆ ลายจีน เป็นใบตำลึง คล้ายๆ กัน
ช่างบางคนเสนอว่าให้แปลงมาเป็นลายไทย ใส่ตามขอบตู้ เอาเทพต่างๆ มาใส่บ้าง
พอมีช่างทำได้เลยให้ช่างทำงานฝังลายไม้มูกมาถึงจังหวัดเพชรบุรี ผ่านพระบ้าง
ผ่านชาวบ้านบ้าง ที่เข้าไปในวังแล้วจำ เขาก็เลยเอาลายพวกนี้มาทำที่เมืองเพชร
นี่คือที่มา โดยปกติชาวเมืองเพชรก็ทำงานไม้อยู่แล้ว โดยส่วนมากจะมาจากวัด
เพราะพระท่านมีเวลามาก ก็สร้างไว้กับวัด ชาวบ้านไปเห็นก็ไปดู เรียนรู้จากวัด
เอามาเป็นงานบ้าง แต่ลดพวกลายเทพ เพราะของพวกนี้อยู่กับบ้านไม่ดี
ทำเป็นเป็นลายเม็ดข้าวสาร ลายเกลียวไปเกลียวมา ลายเล็กๆ
ส่วนที่ว่าเป็นงานไม้มูกได้อย่างไร ก็แปลงมาจากมุก พอเมืองเพชรเอามาทำ
เขาเรียกว่าตู้เพชรบุรี ไม้สักฝังไม้มูกเท่านั้น อาจจะเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4
หรือ 5 ก็ได้ คิดว่าอาจจะทำมาหลัง รัชกาลที่ 5
ก็ได้ เท่าที่เห็น” ช่างฝังลายไม้มูกยุคเก่าแก่อย่าง
ช่างรุ่งฟ้า เล่าเท้าไปถึงความเป็นมา
ในขณะที่ช่างยุคใหม่อย่างช่างไลท์ เล่าในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า “เท่าที่คุยกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายๆ
คน ได้สันนิษฐานเรื่องการทำตู้ฝังลายไว้ว่า งานพวกนี้เรารับอิทธิพลมาจากตะวันตก
เป็นงานฝังทำให้เกิดลาย ของไทยอย่างงานฝังก็มีฝังมุกตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ของเพชรบุรีที่ทำกันเยอะ
เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบ เป็นสำนักช่าง และมีโรงเรียนช่าง เหมือนเป็นกระแส นิยมเลียนแบบทำกันมากกว่า
เพราะบุคลากรกับช่างเยอะ ตู้ที่ฝังลายวิจิตรเป็นลายไทย คนที่ทำส่วนใหญ่บวชพระ
ยามว่างทำงานไม้ ช่างแกะทำงานไม้ ช่างฝังทำกันได้เยอะ ทำเสร็จของก็อยู่ตามวัด ถ้าเราบวชแล้วศึกออกมา
มีวิทยายุทธมาแล้ว ว่างก็อาจจะมาทำกันเป็นอาชีพ ”
คุณค่าของงานฝังลายไม้มูก
ในฐานะเครื่องเรือนราคาแพงประดับบ้าน ดังที่ช่างรุ่งฟ้ากล่าวไว้ว่า “คุณค่ามันคือความสง่า
เวลาลูกพี่ลูกน้องมาเห็น หากเราเป็นคนที่ขายของ เราจะต้องถามซื้อ
ถ้าเป็นคนมีฐานะอยู่แล้ว เขาจะไม่ถามซื้อ เขาจะถามว่าไปได้แต่ใดมา คนซื้อเขาคิดไกล
อยู่ต่อไปอีก 10 ปี หรือ 20 ปี
มูลค่าจะเพิ่มขึ้น คุณค่าของงานฝังลายไม้มูกจึงเป็นคุณค่าแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ” ขณะที่คุณค่าอื่นๆ
ของงานฝังลายไม้มูกที่เป็นมากกว่าเครื่องเรือน ในความคิดขอช่างยุคดั้งเดิม
ยังไม่เด่นชัดดังที่ช่างรุ่งฟ้ากล่าวไว้ว่า “คุณค่าต่อช่าง หากมีใครต้องการของ
ก็ว่าจ้างช่างทำให้ ส่วนคุณค่าทางศาสนานั้นไม่มีหรอก สร้างตู้ไว้
ถ้าไม่เอากลับก็ถวายวัด ศาสนาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง พระเบื่อเพราะอยู่ว่างๆ เลยสร้างตู้ไว้ให้วัด
หรือว่าถ้าสึกแล้วหวงก็เอากลับบ้านไปด้วย ส่วนที่ว่าวัดเป็นสำนักช่าง จริงๆ
แล้วอย่างหลวงพ่อยิด ท่านเคยเห็นเจ้าอาวาสองค์เก่าๆ เขาก็มีฝีมือ
เขาก็อยากจะทำบ้าง จากเดิมวัดไม่ใช่สำนักช่างก็กลายเป็นสำนักช่าง ส่วนของชาวบ้าน
เขาก็ทำกันอยู่แล้ว แลกเปลี่ยนฝีมือ ใครทำดีก็เลียนแบบของคนนั้น ทำออกมาตีตลาดกัน” แต่สำหรับมุมมองของช่างยุคใหม่อย่างช่างไลท์กลับมองเห็นคุณค่าที่ต่างออกไป
“งานไม้มูก ผมคิดว่าตัวศิลปะมันฟ้องอยู่แล้ว อย่างเช่นรูปแบบ ลวดลาย
หรือลักษณะของชิ้นงาน วัสดุที่เอามาทำ มันก็เป็นไม้มูก คุณสมบัติเขาก็มี
เหมือนเอาของในถิ่นเพชรบุรีสร้างแล้วถ่ายทอดออกมาให้คนมาเรียนรู้
มันดีตรงที่ทำให้ศิลปะเหล่านี้ยังคงอยู่ ทำแล้วให้เขาได้รับรู้กัน
การใส่รูปแบบของงานฝังลายไม้มูกต่างกัน ถ้าเป็นตู้ในวัด จะมีตัวเทพที่อยู่
แต่พอมาอยู่ตามบ้านคน เป็นสัตว์หิมพาน ดอกไม้ ลวดลายสวยงามตามแนวตะวันตก
สำคัญคือทวดทรง มันได้ขนาดหรือไม่” ช่างรุ่งกล่าว ในฐานะผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะ
ที่มองเห็นคุณค่างานฝังลายไม้มูก ในฐานะงานช่างฝีมือ งานช่างสกุลเมืองเพชร ผลงานอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
เชิงช่างฝังไม้
งานฝังลายไม้มูกลงในไม้สัก
อันเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างไม้เพชรบุรี จนได้รับขนานนามว่า
ตู้ไม้เมืองเพชรหรือตู้พระ แหล่งกำเนิดงานช่างและช่างฝีมืออยู่ที่วัด ดังเช่น
ช่างฝีมือคนสำคัญ ท่านพระครูญาณวิจัย (ยิด สุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดเกาะ เป็นผู้สร้างตู้ฝังลายไม้มูกลูกแรกของวัดเกาะ จนมีคำกล่าวว่า “บวชเป็นพระวัดเกาะ
ก่อนสึกต้องทำตู้ได้หนึ่งลูก” ในประเด็นนี้ ช่างไลท์
ผู้สืบทอดงานฝังลายไม้มูกของวัดเกาะเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ เล่าเสริมให้เห็นถึงที่มาของศิลปกรรมอันเลื่องชื่อแขนงนี้ไว้ว่า “คนสมัยก่อนเวลาบวช
วัดจะเป็นสำนักช่าง มันไม่มีอะไรนอกจากงานช่างไม้ ตู้พวกนี้บางคนเรียกตู้พระ
ยามว่างพระต้องต่อตู้ พระเวลาบวชมีเวลาว่าง ก่อนสึกจะทำไว้ตู้หนึ่ง
ทำเสร็จจะเอากลับหรือไม่เอากลับก็แล้วแต่”
ปัจจุบันหากกลับไปหางานฝีมือแขนงนี้ในวัดต่างๆ
ในจังหวัดเพชรบุรี กลับไม่พบผู้การสืบทอดในหมู่พระ แต่กลับพบช่างฝีมือดีๆ
ที่ยังสามารถทำเครื่องเรือนฝังลายไม้มูกในหมู่ช่างไม้ที่นับวันยิ่งเหลือน้อยราย
ถ้าไม่สูงอายุจนทำไม่ไหว ก็เลิกไปเพราะไม่มีความอดทนเพียงพอ การทำตู้ใบหนึ่งต้องใช้เวลานานมาก
ไม่ไกลจากวัดเกาะยังคงมีช่างฝีมือดี
ที่ยังรับงานซ่อมแซมตู้เก่า ทำตู้ใหม่ คือช่างรุ่งฟ้า ตาละลักษณ์ ช่างฝังลายไม้มูกวัย
61 ปี อดีตทหารจากค่ายทหารจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ผันตัวมาเริ่มต้นทำตู้ไม้
ในงานกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
โดยในขณะนั้นมีคนไปตามหาซื้อตู้เก่าๆ ตามบ้านต่างๆ กลับมา แล้วนำมาให้ซ่อม
จึงทดลองทำ “อย่างลุง ลุงดูจากวัด ลุงเลยทำได้ พวกนี้เป็นครูในวัดของหลวงพ่อยิด
ท่านทำของท่านเอง ไม่มีใครรู้ พอท่านมรณภาพ เราไปดูในห้องของท่าน เจอตู้เต็มเลย
ท่านเอาผ้าปิดไว้” ช่างรุ่งฟ้า
เล่าถึงจุดเริ่มต้น กว่าจะมาเป็นช่างฝังลายไม้มูก โดยอาศัยวิธีการ “ครูพักลักจำ”
แม้เป็นช่างฝีมือเมืองเพชร
แต่ผลงานชิ้นเอกของช่างรุ่งฟ้า กลับไปอยู่ที่ วิหารไม้สักอันวิจิตรงดงาม
แห่งวัดบางแคน้อย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร ช่างรุ่งฟ้าใช้จิตรกรรมฝังลายไม้มูก
ถ่ายทอดชาดกเรื่อง พระเวสสันดรชาดก ผลงานชิ้นเอกนี้เองที่ช่างรุ่งฟ้าใช้ระยะเวลาตลอด
2 ปี ในการรังสรรค์ขึ้นระหว่างพ.ศ. 2545 – 2546 ปัจจุบันไม่ว่าใครไปอำเภออัมพวา
ต้องไม่พลาดแวะเข้าไปเยี่ยมชมผลงานของช่างรุ่งฟ้าที่วัดบางแคน้อยกันแทบทั้งสิ้น
ถัดออกไปไม่ไกลจากเขาวัง ณ สวนโจ
รีสอร์ท นายนิยม
ราชเจริญ หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ ช่างไลท์ ในปัจจุบัน
อดีตนักซื้อและพ่อค้าของเก่าที่พลิกผันมาเป็นนายช่างร่วมสมัย มีผลงานโดดเด่น
และได้รับการผลักดันจากหน่วยงานของรัฐ ในจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของตนเองไว้ว่า “ตู้หลวงพ่อยิด ผมศึกษาตอนปี 2549 ตอนแรกผมเป็นพ่อค้า
มานั่งคิดๆ แล้ว เราทำได้ ถามว่าจะไปหยิบซื้อมาขายไป เพื่ออะไร ซื้อ 10,000
ขายไป 12,500 ได้กำไรแค่ 2,500 ก็เลยมานั่งคิดๆ ว่า เราสร้างขึ้นมาเลยดีกว่า
ให้คนรุ่นหลังรู้ว่าเราสร้างขึ้นมา เป็นของทำทิ้งไว้ในแผ่นดิน
ผลงานของช่างไลท์ปรากฏออกสู่สังคม
ผ่านการแสดงผลงานต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี “ผมไปงานพระนครคีรี กับงานมฤคทายวัน
ช่วงธันวาคมให้คนไปเที่ยววังฤดูหนาว มีงานช่างไปโชว์ด้วย
เมื่อก่อนยังมีงานรามราชนิเวศหรือพระราชวังบ้านปืน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” เอกลักษณ์งานฝังลายไม้มูกของช่างไลท์
อยู่ที่การประยุกต์จากงานดั้งเดิม ตู้หลวงพ่อยิดที่วัดเกาะ มีอายุประมาณ 100 ปี
ตู้หลวงพ่อยิดด้านบนเป็นรูปทรงโค้ง ช่างไลท์ยึดเอาตู้หลวงพ่อยิดเป็นครู เพราะรุ่นหลังๆ
ไม่มีใครสามารถสร้างได้
การรังสรรค์ตู้ไม้ฝังลายไม้มูกขึ้นมาชิ้นหนึ่ง
แบ่งงานออกเป็น 2
ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรก งานขึ้นโครงและแกะสลักไม้ ในจังหวัดเพชรบุรีนิยมและเป็นเอกลักษณ์
คือ ฝังลายไม้มูกลงในไม้สัก ส่วนที่สอง งานฝังลายไม้
ลวดลายที่ได้รับความนิยมของจังหวัดเพชรบุรีที่แตกต่างจากที่อื่นๆ คือ การใช้ลวดลายวิจิตร
เช่น ลายกนก ลายกนกเถา ลายกนกเปลวเพลิง เป็นต้น
ขั้นตอนแรก
ขึ้นโครงไม้ คือขั้นตอนการประกอบโครงสร้างของตู้ไม้ขึ้นมา วิธีการของช่างร่วมสมัย
จะเข้าเดือยเพื่อให้สามารถทำการประกอบโครงสร้างใหม่ได้อีกครั้ง โดยหลังจากขึ้นโครงแล้วจะช่างร่วมสมัยจะรื้อโครงสร้าง
เพื่อนำชิ้นส่วนต่างๆไปแกะสลักและฝังลายต่อไป ซึ่งแตกต่างจากวิธีการของช่างดั้งเดิมที่จะไม่รื้อโครงสร้างหลังการขึ้นโครงไม้แล้ว
ขั้นที่สอง
สร้างเส้นเพื่อทำกรอบ โดยการค่อยๆใช้เลื่อยบรรจงสร้างเส้นลงบนไม้สัก เมื่อได้ร่องก็เอาไว้สำหรับฝังไม้มูก
ซึ่งเราต้องทำไม้มูกให้พอดีกับร่องบนไม้สัก เพื่อที่จะได้นำไม้มูกมาตอกเข้าไปได้ ขั้นตอนนี้มักพบในการทำงานของช่างร่วมสมัย
เพราะวิธีการของช่างดั้งเดิมจะใช้วิธีกี่เขียนลายลงบนเนื้อไม้สักโดยตรงไม่นิยมสร้างเส้นเพื่อทำกรอบ
ขั้นที่สาม
แกะสลักลายในไม้สัก การแกะมี 2 ลักษณะ คือ การแกะไม้แบบทึบ นั้นเป็นการแกะไม้ลักษณะนูนสูง
เห็นลวดลายด้านหน้า ด้านข้างนูนขึ้นมาจากฐาน กับ การแกะแบบโปร่ง
ต้องฉลุลายไม้ให้ทะลุก่อน จึงแกะลายสูงต่ำอีกครั้ง
ขั้นที่สี่
แกะสลักลายในไม้มูก ต้องใช้ความชำนาญในการคาดคะเนว่าส่วนไหนควรแกะให้ลึกหรือตื้น
โดยเริ่มต้นแกะบริเวณที่ลึกที่สุด แล้วไล่ระดับขึ้นมาบนผิวของไม้
ขั้นสุดท้าย
ฝังลายไม้มูกลงในเครื่องเรือนไม้สัก โดยการนำไม้มูกมาไสเป็นแผ่น
ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร โดยเขียนลายบนกระดาษเป็นลายเดียวกัน 2 แผ่น
แผ่นแรกทากาวติดบนแผ่นไม้มูกสำหรับฉลุ 1 ชิ้น และส่วนแผ่นที่ 2 ติดลงบนเนื้อไม้สักที่จะขุดลาย ในอดีตช่างดั้งเดิมจะใช้กระดาษลอกลาย
ต่างกับสมัยนี้ ไม่ว่าช่างดั้งเดิมหรือช่างร่วมสมัยใช้วิธีการเดียวกัน คือ ใช้เครื่องถ่ายเอกสารก๊อปปี้
ย่อขยายเล็กใหญ่ให้พอเหมาะกับเนื้องาน เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการทำงาน
ก่อนเส้นสายลายจาง
แม้ตู้ไม้สักฝังลายไม้มูกอายุเก่าแก่ผลงานของพระภิกษุในอดีต ยังคงเหลือให้พบเห็นได้ในปัจจุบันตามวัดวาอารามต่างๆ
เช่น วัดเกาะ แต่วัดในปัจจุบันกลับไม่หลงเหลือภาพวัดในฐานะสำนักช่างอีกต่อไป
ไม่มีพระภิกษุรูปใด ใช้เวลาว่างสร้างตู้พระดังเช่นในอดีต งานฝังลายไม้มูกในยุคปัจจุบันจึงเป็นงานที่ถูกสร้างขึ้นใหม่
เป็นเครื่องเรือนราคาแพงตามบ้านของเหล่าบรรดานักสะสมที่มีรสนิยมชื่นชอบงานสกุลช่างเมืองเพชร
สถานการณ์งานศิลปะและสกุลช่างเมืองเพชรในปัจจุบัน
จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรีบ่งชี้ว่า งานฝังลายไม้มูก อยู่ในขั้นเบาบาง
คือ ขาดผู้สืบทอด ปัจจุบันช่างที่ทำเครื่องเรือนไม้มูกมีหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย
เท่าที่พบเจออยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีนั้นก็มีเพียง ช่างรุ่งฟ้า
ตาละลักษณ์ ช่างฝีมือดั้งเดิมชั้นยอด แห่งวัดเกาะ กับช่างไลท์ นายนิยม ราชเจริญ ช่างฝีมือประยุกต์ร่วมสมัย
แห่งสวนโจ รีสอร์ท ที่ยังคงร่วมกันรังสรรค์สร้างเครื่องเรือนฝังลายไม้มูก
เมื่อถามถึงทายาทผู้สืบทอดงานฝังลายไม้มูกจากช่างดั้งเดิมอย่างช่างรุ่งฟ้า
ก็ได้รับคำตอบในเชิงตัดพ้อและดูสิ้นหวังในการหาผู้สืบทอดว่า “ลูกๆ เห็นว่างานพวกนี้ใช้เวลา มันช้า
ก็เลยไม่ศึกษา เพราะได้เงินไม่ทันใจ เราสอนได้ทุกเวลา แต่ลูกมันไม่เอา” เช่นเดียวกับ ช่างไลท์ นายนิยม
ราชเจริญ ที่กล่าวว่า “งานผม เด็กมันไม่เอาหรอก มันประณีต ผมจะอธิบายให้ฟัง
สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่งานยากเลย งานสกุลช่างเมืองเพชรไม่มีงานอะไรที่ยากหรอกครับ
แต่ผมว่าอยู่ที่เราอดทนทำกับมันได้แค่ไหนเท่านั้น คิดดูว่าถ้าเราต้องทำตู้ลูกหนึ่งแล้วเราต้องนั่งเลื่อยเป็นร้อยเป็นพันชิ้น
ถ้าบางครั้งเรานึกถึงว่างานไม้แบบนี้อยู่บนโต๊ะของเรา แล้วเราต้องเลื่อยสักร้อยอัน
มันถึงบอกว่าต้องอดทน งานของผมมันไม่สนุกตรงที่ว่า ทำอะไรซ้ำๆซากๆเป็นร้อยเป็นพัน
งานเขียน งานปั้น ผิดพลาดบางครั้งก็ยังลบได้ แต่งานฝังลายถ้ามันเสียแล้ว แก้ไม่ได้”
แม้ความหวังในการหาผู้สืบทอดดูจะเริ่มเลือนราง
แต่ยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง สิ้นศรัทธาเสียทีเดียว ช่างไลท์
ยังคงพยายามส่งต่อลมหายใจสุดท้ายของงานฝังลายไม้มูก ด้วยการผุดโครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้งานศิลปะไม้โบราณแขนงนี้
ในบริเวณสวนโจ รีสอร์ท ที่ทำงานของช่างไลท์ในปัจจุบัน ด้วยความคิดที่ว่า “หากใครสนใจอยากฝึกก็เข้ามาทำกับเรา
ผู้สนใจจะได้มาศึกษาเรียนรู้ได้ใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว
ได้เรียนรู้ทฤษฎีและปฎิบัติงานจริง ถ้าแค่จัดงานโชว์
คนก็ได้เรียนรู้แค่เปลือกๆการตั้งศูนย์การเรียนรู้เกิดประโยชน์มาก
ทำให้เรารู้ได้ว่าใครมีแววพอจะทำได้ การสานต่อของผมนี้
เปรียบเสมือนเปนลมหายใจสุดท้าย เราทำงาน
มีความหวังว่าอย่างน้อยก็ให้มีผลงานทิ้งไว้ในแผ่นดินนี้
ถ้าถ่ายทอดความรู้ความสามารถของเราให้คนรุ่นหลังได้ เขาทำตามแบบเรา
ศิลปะก็คงไม่ตาย ปัญหาอยู่ที่ว่า คนรุ่นใหม่สนใจน้อย ถึงมีคนมาทำ พอทำเสร็จก็เลิก
งานประเภทนี้ต้องใช้เวลา กำลัง และเรี่ยวแรงพอสมควร งานศิลปะ จะบอกว่ายากก็ยาก
จะบอกว่าง่ายก็ง่าย”
สมัยนี้สิ่งต่างๆ
ล้วนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ด้วยเทคโนโลยีหรือการพัฒนาที่ก้าวหน้าบางทีอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป
ช่างไลท์ได้เล่าเรื่องให้แง่คิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์สืบสานงานฝังลายไม้มูกทิ้งท้ายต่ออีกว่า “ผมเคยเจอคนหัวสมัยใหม่ บอกผมว่า อย่างงี้หรอช่าง
ผมว่าไม่ยากหรอก สั่งปั๊มเลย ทำบลอคปั๊มขึ้นมา ผมก็ไม่เถียงนะ ตอบไปว่า มันทำได้
อะไรที่ยากกว่านี้ยังทำได้เลย เรื่องแบบนี้มันจิ๊บจ๊อยเลย แต่ผมถามกลับว่า
แล้วมันจะตอกยังไง จะเป็นศิลปะยังไง มันดูเหมือนสร้างสรรค์ แต่จริงๆ
แล้วเป็นการทำลายงานศิลปะ
คุณพูดแบบนี้คุณพูดได้ แต่ถามดึงเด็กเยาวชนที่จะเรียนรู้หล่ะ อยากจะทำ อยากจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
เราทำให้มันเป็นงานศิลปะ งานทำมือ ถ้ามีคนคุณภาพเสมอคุณ คุณก็ทำได้ บางครั้งความคิดคนเรามันก็สำคัญ
การสืบสานเป็นไปได้ยากก็เพราะอย่างงี้ ถ้าเป็นงานที่ทำด้วยมือ
แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมีคนชื่นชมมากกว่า เรื่องความเจริญ ต้องนำไปใช้กับเทคโนโลยี
ส่วนตรงนี้มันสื่อถึงเรื่องทางจิตใจ เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน”
งานไม้มูก เจตนาคือ ไม้สลับสี ถ้าต่อไปงานฝังลายไม้มูกไม่มีคนมาสืบต่อ
คงเหลือไว้เพียงตัวตู้ทิ้งไว้ให้ดู ก็หวังเพียงว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้ที่สนใจ
เห็นร่องลอยไม้มูกที่ฝังอยู่บนตู้ แล้วนำไปดัดแปลงหรือสานงานต่อ ลายไม้มูกบนตู้ไม้สักคงไม่ใช่ร่องรอยสุดท้าย
ตู้ไม้เมืองเพชรคงไม่ถึงคราวเส้นสายลายจาง
ของเก่าในปัจจุบัน…คือ ของใหม่จากอดีตสมัย
ดังนั้นของใหม่ในปัจจุบัน ก็คือ
ของเก่าในอนาคตต่อไป
ความตั้งใจปราณีตบรรจง
งานอนุรักษ์ศิลปะเท่านั้น
ที่จะคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ควบคู่กับเวลาที่กำลังจะผ่านไป
คนเมืองเพชร